บ้านพิษณุโลก

อดีตบ้านขุนนางคนสำคัญ สู่บ้านพักนายกรัฐมนตรี
          บ้านพิษณุโลก เดิมชื่อว่าบ้านบรรทมสินธุ์ เป็นบ้านพักของพลตรี พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) ข้าราชบริพารคนสำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งบ้านหลังนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อพ.ศ.2465 โดยสถาปนิกชาวอิตาเลียน มาริโอ ตามานโญ (Mario Tamagno) และ อันนิบาเล ริกอตติ (Annibale Rigotti) เป็นสถาปัตยกรรมแบบเวเนเชียน โกธิค รีไววัล (Venetian Gothic Revival)
          ในสมัยที่จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซื้อบ้านบรรทมสินธุ์จากพระยาอนิรุทธเทวา เนื่องจากครอบครัวท่านย้ายไปอยู่จังหวัดนนทบุรีเพื่อหนีจากความวุ่นวายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในคราวแรกตกลงขายพื้นที่ส่วนหนึ่งให้ รัฐบาลนำมาใช้เป็นบ้านพักรับรองแขกของทางรัฐบาลและเป็นที่ทำการกรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่น เรียกว่า ตึกไทย-พันธมิตร
          หลังจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พื้นที่อีกส่วนหนึ่งได้ขายให้นายแพทย์ฝรั่ง ซึ่งในปัจจุบันเป็นพื้นที่ของโรงพยาบาลมิชชัน ส่วนตึกใหญ่บ้านบรรทมสินธุ์ เปลี่ยนชื่อเป็น บ้านพิษณุโลก ตามชื่อถนนที่ตั้งอยู่ แต่ถูกทิ้งร้าง จนถึงสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีการบูรณะซ่อมแซม และใช้เป็นบ้านพักของนายกรัฐมนตรี

สามยอด ประตูผี

ความซับซ้อนของคำที่ไม่ได้อธิบายถึงสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน
          สามยอด ย่านสุดครึกครื้นแห่งหนึ่งภายในพระนคร ชื่อนี้มีที่มาจากประตูเมืองตรงสะพานดำรงสถิตย์ (สะพานเหล็ก) เป็นประตูที่มี 3 ช่อง และ 3 ยอด แต่ต่อมาถูกรื้อเพื่อขยายถนนเจริญกรุง คงเหลือเพียงแต่ชื่อที่ประชาชนเรียกกันติดปากเสมอมา
          ส่วน ประตูผี คือ ประตูช่องเล็กที่อยู่บนกำแพงเมืองใช้เป็นช่องทางสำหรับขนย้ายผู้เสียชีวิต เนื่องจากการจัดการร่างของผู้เสียชีวิตไม่สามารถทำในพระนครได้ ประตูดังกล่าวสร้างอยู่แนวเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อป้องกันวิญญาณชั่วร้าย ตำแหน่งของประตูผีอยู่ที่บริเวณหน้าวัดเทพธิดาราม เมื่อออกจากประตูจะพบกับป่าช้าของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ซึ่งต่อมาถูกรื้อออกไปพร้อมกับกำแพงพระนคร
          สามยอดในอดีตมีทั้งร้านค้า โรงหวย และผู้คนสัญจรไปมาอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป มีแหล่งความบันเทิงและสถานที่พบปะใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น ย่านนี้จึงซบเซาไปตามกาลเวลา แต่ในปัจจุบัน สามยอด กลับมาอีกครั้งในชื่อของสถานีรถไฟฟ้ามหานคร เดินทางมาเจอกับประตูผีที่กลายเป็นย่านร้านอาหารรสเด็ดเป็นที่นิยมของประชาชน พร้อมกับความครึกครื้นที่ช่วยปลุกให้ย่านนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

สนามหลวง

คุณเคยทำกิจกรรมอะไรที่สนามหลวง?
          สนามหลวงคงเป็นสถานที่ที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน ทั้งในแง่ของการเป็นมณฑลพิธีอันยิ่งใหญ่ ตลาด สวนสาธารณะ หรือที่พักใจในวันอันแสนโหดร้าย ถึงแม้วันนี้ภาพที่มองเห็นอาจเปลี่ยนไป แต่สนามหลวงได้เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมของทุกคน ทุกชนชั้น และได้ทำหน้าที่ในการเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างเต็มกำลัง

ลานพระบรมรูปทรงม้า

พื้นที่ของสองขั้วอำนาจ
          ลานพระบรมรูปทรงม้า เดิมเรียกว่า ลานพระราชวังดุสิต เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต ต่อมาเมื่อมีการนำพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงม้ามาประดิษฐานไว้กลางลานด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ชื่อ ลานพระบรมรูปทรงม้า จึงเป็นชื่อที่เรียกกันทั่วไปในภายหลัง
          นอกจากภาพฉากหลังของพระที่นั่งอนันตสมาคมอันยิ่งใหญ่ พระบรมรูปทรงม้าอันสง่างาม บนพื้นของลานนั้น ยังมีโบราณวัตถุที่ถูกนำมาฝังไว้เมื่อพ.ศ. 2479 คือ หมุดคณะราษฎร อนุสรณ์ที่แสดงถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ฝังอยู่ ณ บริเวณที่พล.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร อ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับแรก เมื่อเวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475

จากมิวเซียมแห่งแรก สู่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ
          ในคราวแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ย้าย “มิวเซียม” จากศาลาสหทัยสมาคม ไปจัดแสดง ณ พระที่นั่ง 3 องค์ในพระราชวังบวรสถานมงคล ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพื้นที่ทั้งหมดของพระราชวังบวรสถานมงคลให้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2469
“… บัดนี้ราชบัณฑิตยสภาได้จัดหอพระสมุดวชิรญาณและพิพิธภัณฑสถานขึ้นใหม่แล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะยินดีด้วยกับข้าพเจ้าที่ได้เห็นพิพิธภัณฑสถานอันใหญ่โตและพอสมควรกับเกียรติยศของพระนคร ข้าพเจ้าหวังใจว่าพิพิธภัณฑ์ใหม่นี้คงจะเป็นที่พอใจของท่านทั้งหลายตลอดจนมหาชนที่จะได้มาชมในวันต่อไป…”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในคราวเปิดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2469

“กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัด วัง งามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย”
          พระบรมมหาราชวัง เป็นพระราชนิเวศน์แห่งแรกในเกาะรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พ.ศ.2325 ตามแบบแผนพระราชวังหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยแบ่งออกเป็นเขตพระราชฐานแต่ละส่วน ดังนี้
          เขตพระราชฐานชั้นนอก เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งได้รับการสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวงที่ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวังเหมือนวัดพระศรีสรรเพชญ์
          เขตพระราชฐานชั้นกลาง เป็นที่ตั้งพระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียร ที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 5 ภายหลังใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญและรับรองพระราชอาคันตุกะ
          เขตพระราชฐานชั้นใน โดยปกติ เป็นที่ประทับของพระมเหสี เจ้านายและข้าราชบริพารฝ่ายใน แต่ต่อมาไม่ได้มีการใช้พระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ เคยใช้เป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม โดยเฉพาะงานช่างฝีมือชั้นสูงทุกแขนง
          พระบรมมหาราชวังในปัจจุบันได้รับการบูรณะซ่อมแซมโดยใช้เทคนิค วัสดุ และรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเพื่อรักษาให้คงอยู่มายาวนานถึง 239 ปี

ทำเนียบรัฐบาล

“นายกรัฐมนตรีแถลงหลังการประชุม ครม. ณ ตึกไทยคู่ฟ้า”
     ทำเนียบรัฐบาล เป็นสถานที่ราชการสำคัญของคณะรัฐบาล ทั้งที่ทำงานของนายกรัฐมนตรี
รองนายกรัฐมนตรี ผู้ที่มีหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี และกรมกองอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในบางโอกาสใช้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และจัดงานสโมสรสันนิบาตเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เดิมบริเวณทำเนียบรัฐบาลเป็นบ้านของ พลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ข้าราชบริพารคนสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า “บ้านนรสิงห์” ก่อนจะเปลี่ยนเป็นทำเนียบรัฐบาลในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม พ.ศ.2484 ภายในพื้นที่ประกอบด้วย ตึกไทยคู่ฟ้า ตึกสันติไมตรี และตึกนารีสโมสร เป็นต้น

วังวรดิศ

วังสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงมีคุณูปการต่อประวัติศาสตร์ไทย
          วังวรดิศ เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตั้งอยู่บนถนนหลานหลวง ในคราวแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักบนที่ดินบริเวณถนนเจริญกรุงของเจ้าคุณตาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระราชทานนามว่า วังวรดิศ ตามพระนามเดิมของพระองค์ คือ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ต่อมา สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำหรับสร้างตำหนักใหม่บริเวณถนนหลานหลวง
          ปัจจุบัน ตำหนักใหญ่ วังวรดิศ ได้รับการรักษาให้คงไว้ในสภาพเดิม และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับการเข้าชมเป็นหมู่คณะ และมีหอสมุดดำรงราชานุภาพที่เก็บรวบรวมหนังสือสำคัญ โดยเฉพาะหนังสือในพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อันเป็นสมบัติอันมีค่าและสร้างองค์ความรู้ให้แก่บทเรียนประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของไทย

The symbolic temple of King Rama V and King Rama VII

This first-class royal Buddhist temple was specifically constructed in 1869 to be King Chulalongkorn’s symbolic temple as Thai ancient tradition dictated. It was also the last of its kind since later monarchs opted instead to renovate existing temples or build different structures entirely. From then on, the major temple of each reign would be the one where the King shares a connection or grants royal patronage.

King Prajadhipok, for instance, ordered a complete renovation of Wat Ratchabophit during his reign. Due to this, the temple is considered to be his symbolic temple. In addition, the base of Phra Phuttha Angkhirot, the principal Buddha image of this temple, also holds the remains of His Majesty King Buddha Loetla Nabhalai (King Rama II), His Majesty King Phra Nangklao (King Rama III), His Majesty King Chulalongkorn (King Rama V) and the ashes of His Majesty King Prajadhipok (King Rama VII), Her Majesty Queen Rambai Barni, and His Majesty King Bhumibol (King Rama IX).

พระที่นั่งอนันตสมาคม

พระที่นั่งหินอ่อนองค์เดียวในประเทศไทย
          พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกรูปแบบนีโอ คลาสสิค (Neo Classic) ออกแบบโดยนายมาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกมือฉมังชาวอิตาเลียน แผนผังของพระที่นั่งมีลักษณะคล้ายกับผังของโบสถ์ในศาสนาคริสต์ เรียกว่า Latin Cross ภายในตกแต่งด้วยภาพวาดบนปูนเปียก (Fresco) ถึงแม้จะใช้เทคนิคของตะวันตก แต่จิตรกรรมนั้นล้วนสื่อถึงความเป็นไทย เช่น ภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และลวดลายอย่างไทย เป็นต้น รวมไปถึงลักษณะการใช้งานภายในตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยให้แบ่งออกเป็นท้องพระโรงฝ่ายหน้า สำหรับผู้ที่มาเข้าเฝ้า ข้าราชการ ขุนนาง และเจ้านายฝ่ายหน้า และท้องพระโรงฝ่ายใน มีห้องจัดเลี้ยงและห้องถวายงานรับใช้ สำหรับเจ้านายและข้าราชบริพารฝ่ายใน

วังปารุสกวัน

จากวัง สู่สถานที่ราชการ และพิพิธภัณฑ์ตำรวจในปัจจุบัน
          วังปารุสกวันเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เงินพระคลังข้างที่ซื้อที่ดินจากราษฎร เพื่อสร้างตำหนักปารุสกวัน ทางฝั่งทิศใต้ของที่ดิน ให้กับสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถในโอกาสที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศรัสเซีย พร้อมกันกับการสร้างตำหนักจิตรลดา ทางฝั่งทิศเหนือ ให้กับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เพื่อเป็นที่ประทับชั่วคราวหลังจากเสด็จนิวัติพระนครเช่นกัน แต่เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธขึ้นครองราชย์ ทรงย้ายไปประทับที่พระราชวังดุสิต และทรงขอที่ดินตรงท่าวาสุกรีของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กอรปกับพระองค์มีพระประสงค์ที่จะประทับที่ตำหนักปารุสกวันตามเดิม จึงถวายที่ดินดังกล่าวให้พระเชษฐา แลกกับตำหนักจิตรลดาที่อยู่ติดกับตำหนักปารุสกวัน และมีการนำกำแพงที่กั้นพื้นที่ของสองตำหนักออก เพื่อให้กลายเป็นพื้นที่เดียวกัน คำว่า ปารุสกวัน หมายถึง อุทยานที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เช่นเดียวกับสวนจิตรลดาและสวนดุสิต ที่เป็นนามของวังที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน
          สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงใช้วังปารุสก์เป็นทั้งที่ประทับและที่ทรงงาน กล่าวคือ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงใช้ห้องแดงภายในตำหนักเป็นห้องวางแผนการรบ หลังจากพระองค์สวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้โอนตำหนักคืนแก่พระคลังข้างที่ วังปารุสกวันจึงถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีบางพิธีและเป็นที่รับรองแขกบ้านแขกเมือง
          ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 วังปารุสกวันกลายเป็นสถานที่ราชการ มีการใช้เป็นสถานที่ประชุมของคณะราษฎร ที่พักของบุคคลสำคัญ และที่รับรองแขกของรัฐบาลในบางโอกาส เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี จึงมอบให้กรมตำรวจ เพื่อใช้สำหรับกิจการภายในกรม จากนั้น กรมตำรวจจึงมอบต่อให้กับสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และยังคงเป็นที่ทำการสำนักจนถึงทุกวันนี้ รวมถึงเป็นพิพิธภัณฑ์ตำรวจ ที่มีการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของวังปารุสกวันและความเป็นมาของตำรวจไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ศาลหลักเมือง

ศรัทธา ความเชื่อ และการตั้งหลักของเมืองใหม่
          เสาหลักเมือง หมายถึง เสาที่ถูกสร้างขึ้น ณ ที่ที่เป็นใจกลางเมือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการสร้างเมืองใหม่ให้มั่นคงและเป็นที่สถิตของสิ่งศักดิสิทธิ์ที่คอยปกปักษ์รักษาเมือง การสร้างเสาหลักเมืองอาจมาจากความเชื่อในเรื่องของการบูชาผีก่อนที่จะเข้ามาเกี่ยวของกับศาสนาที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ภายหลังจึงมีพิธีกรรมทางศาสนาเกิดขึ้นด้วย แต่ข้อปฏิบัติหรือรายละเอียดจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความเชื่อของผู้ปฏิบัติ
          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่ เมื่อพ.ศ. 2395 เนื่องจากต้นเก่าชำรุดและเสียหายตามกาลเวลา และผูกดวงชะตาเมืองขึ้นใหม่ เพื่อความมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง
          ภายในศาลหลักเมือง ไม่ได้มีเพียงเสาหลักเมืองที่เปรียบเสมือนผู้พิทักษ์พระนคร แต่ยังมีพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง ซึ่งแต่ละองค์ล้วนแต่ช่วยรักษาความสงบของบ้านเมือง ป้องกันภัยรุกรานจากศัตรู และช่วยคุ้มครองพระนครให้ปลอดภัย

บ้านมนังคศิลา

ที่ทำการของพรรคการเมืองแรกตามกฎหมายของประเทศไทย
          บ้านมนังคศิลา เดิมเป็นที่พักของพระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างและพระราชทานแก่พระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล)
          เมื่อ พ.ศ. 2495 มีการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ธนาคารเอเชีย แต่รัฐบาลได้ขอใช้เป็นบ้านพักรับรองของสำนักนายกรัฐมนตรี และใช้เป็นที่ประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่อมา พ.ศ.2498 เป็นที่ทำการของพรรคเสรีมนังคศิลา พรรคการเมืองพรรคแรกของประเทศไทยตามกฎหมาย มีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นหัวหน้าพรรค หลังจากที่เกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 เมื่อพรรคเสรีมนังคศิลาถูกยุบ ธนาคารเอเชียจึงขอสถานที่คืน แต่ยังคงใช้เป็นที่รับรองแขกเมืองเป็นครั้งคราว ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยขอซื้อบ้านมนังคศิลาจากธนาคารเอเชีย เพื่อมอบให้แก่กระทรวงการคลัง แลกกับการใช้พื้นที่บางขุนพรหมเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย จึงอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ ต่อมา พ.ศ. 2518 ใช้เป็นที่ทำการของสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมภ์ จนถึงพ.ศ. 2562 บ้านมนังคศิลาได้รับการบูรณะซ่อมแซมจากกรมศิลปากร
          บ้านมนังคศิลาออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ ชื่อ เอ็ดเวิร์ด ฮีลี (Edward Healey) สถาปัตยกรรมเป็นแบบทิวดอร์ (English Tudor) ที่ใช้ระบบโครงสร้างอาคารไม้แบบ Half Timber มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานของชาติเมื่อพ.ศ. 2528

วัดบวรนิเวศวิหาร

ที่ประทับจำพรรษาของพระมหากษัตริย์ 3 รัชกาล
          วัดบวรนิเวศวิหารสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นที่ประทับจำพรรษาของพระมหากษัตริย์ถึง 3 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมชนากาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
          ภายในพระอุโบสถของวัดบวรนิเวศวิหาร มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เช่น ภาพปริศนาธรรม และภาพประเพณีทางพุทธศาสนา โดยช่างฝีมือชื่อดังในสมัยรัชกาลที่ 4 คือ ขรัวอินโข่ง จิตรกรไทยที่ใช้เทคนิค Perspective แบบตะวันตกผสมผสานกับความวิจิตรของศิลปะไทย

ศาลาเฉลิมไทย

โรงภาพยนตร์ริมถนนราชดำเนิน
          ศาลาเฉลิมไทย เป็นโรงภาพยนตร์อีกแห่งที่มีความทันสมัยและได้รับความนิยม สร้างขึ้นในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2483 ตามแผนโครงการพัฒนาอาคารริมถนนราชดำเนิน ออกแบบโดยจิตรเสน (หมิว) อภัยวงศ์ ลักษณะของสถาปัตยกรรมเป็นรูปแบบที่เรียกกันว่า ศิลปะยุคคณะราษฎร เนื่องจากถูกสร้างโดยคณะราษฎร ในช่วงแรก ศาลาเฉลิมไทยเป็นโรงมหรสพ มีการแสดงละคร ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นโรงภาพยนตร์ตามความนิยมในสมัยนั้น แต่อาคารโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยถูกรื้อถอนออกไปเมื่อพ.ศ.2532 เพื่อสร้างลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์และเผยให้เห็นภาพของโลหะปราสาทดังเช่นทุกวันนี้

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

วัดภูเขาทอง พิชิตบันได 344 ขั้น กลางกรุงเทพมหานคร
          วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า วัดภูเขาทอง เนื่องจากเป็นวัดที่มีพระบรมบรรพต หรือ พระเจดีย์ภูเขาทองประดิษฐานอยู่ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยพระราชประสงค์ให้มีเจดีย์ที่เหมือนกับวัดภูเขาทองในกรุงศรีอยุธยา โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) เป็นผู้ดูแลการสร้าง แต่เกิดปัญหาในการก่อสร้าง จึงมิได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) บุตรของสมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ เป็นผู้ดูแลการก่อสร้างในคราวนี้ เมื่อแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามใหม่ว่า พระบรมบรรพต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีมหรสพฉลอง

ถนนพระสุเมรุ

ป้อมพระสุเมรุในอดีต

     ถนนพระสุเมรุ เป็นถนนที่อยู่ในย่านสำคัญ ด้วยมีชุมชนหลายแห่ง สถานที่สำคัญทางศาสนา และเป็นย่านการค้าแสนคึกครื้นมาตั้งแต่อดีต จุดเริ่มต้นของถนนอยู่ที่ป้อมพระสุเมรุ ติดกับถนนพระอาทิตย์ พาดยาวเลียบคลองบางลำพูไปจนถึงถนนราชดำเนินกลางบริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศ และยังตัดผ่านไปยังถนนหลายสาย เช่น ถนนพระอาทิตย์ ถนนจักรพงษ์ ถนนตะนาว ถนนสามเสน ถนนประชาธิปไตย และถนนดินสอ 

     ชื่อถนนนั้นเป็นไปตามชื่อตามป้อมพระสุเมรุที่อยู่ต้นสาย ป้อมพระสุเมรุ เป็นหนึ่งในสิบสี่ป้อมที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และยังเป็นป้อมที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับป้อมมหากาฬ

Phra Sumen Road

Phra Sumen Fort in the Past

Phra Sumen Road runs through a long-established commercial district comprising many communities, religious sites, and rows of shophouses. The road itself starts at Phra Sumen Fort where Phra Atit Road ends. Its route leads alongside Bang Lamphu canal and finishes at Phan Fa Lilat intersection of Ratchadamnoen Klang Road. It connects with several other roads such as Phra Atit Road, Chakrabongse Road, Tanao Road, Samsen Road, Prachathipatai Road, and Dinso Road.
The road is named after Phra Sumen Fort, its starting point. One of the fourteen forts built in the reign of King Buddha Yodfa Chulaloke (King Rama I), this fort and Mahakan fort are now the only two forts left standing as historical sites in Phra Nakhon.

ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์

สนามม้าสำหรับคนไทย ที่เหลือไว้เพียงชื่อ
     ราชตฤณมัยสมาคม หรือ เรียกกันโดยทั่วไปว่า สนามม้านางเลิ้ง เป็นสนามแข่งม้าและสปอร์ตคลับตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลก บริเวณย่านนางเลิ้ง เมื่อ พ.ศ. 2456 พระยาประดิพัทธภูบาลและพระยาอรรถการประสิทธิ์ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตและที่ดินบริเวณตำบลนางเลิ้งจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อสร้างสนามม้าสำหรับคนไทย และพระองค์เสด็จฯ เปิดสนามม้า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2459 พระราชทานนามว่า ราชตฤณมัยสมาคม
     ภายในราชตฤณมัยสมาคมฯ มีสนามแข่งม้าและมีพื้นที่สำหรับการบำรุงพันธุ์ม้าโดยเฉพาะ เนื่องจากม้าส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต่อมามีการเพิ่มและต่อเติมพื้นที่สำหรับกีฬาชนิดอื่น ๆ เช่น บิลเลียด กอล์ฟ เทนนิส และฟุตบอล เป็นต้น กลายเป็นที่พบปะสังสรรค์และสปอร์ตคลับของเหล่าเจ้านายในสมัยนั้น การแข่งม้าถือเป็นทั้งความบันเทิงและการพนันอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในยุคสมัยต่อมาความนิยมก็ลดลงไป
     ปัจจุบัน ราชตฤณมัยสมาคมฯ ที่มีอายุกว่า 102 ปี ปิดตัวลง เนื่องจากหมดสัญญาการเช่าพื้นที่ โดยการแข่งม้าครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2561

The Royal Cremation of H.M. King Chulalongkorn (King Rama V)

The Royal Ploughing Ceremony on 13th May 1966

National Exhibition on the Occasion of the 100th Anniversary of Phra Nakorn in 1882 in the Reign of H.M. King Chulalongkorn

The Celebration of the Constitution Day in 1938

          Constructed in the reign of King Buddha Yodfa Chulaloke (Rama I), this vast open field earned its original name, Thung Phra Men, from its purpose as a royal cremation ground for past kings and close relatives. Throughout the reign of King Rama I to King Rama III, the function of Sanam Luang was linked to the wish of the King and royal ceremonies. For example, it was the venue for the Royal Ploughing Ceremony, the Harvest Festival, the Rain-Beckoning Rituals, and the location of Royal paddy fields during rice-planting seasons.

          In the reign of King Chulalongkorn (Rama V), Sanam Luang was expanded to accommodate new functions. The western influence had been steadily increasing ever since the reign of King Mongkut (Rama IV). It gave rise to various activities taking place on the ground, encouraging more participation by the people. Examples of such activities were the centennial celebration of Bangkok with its grand royal procession and the National Exhibition that displayed Siamese-made products and was open to the general public for three months. At the time, there was an establishment of several almshouses around the premise as well. Later, in the reign of King Vajiravudh (Rama VI), Sanam Luang was used for military parade inspection. It was also a training ground for the King’s paramilitary militia, Wild Tiger Corps and Tiger Cups, its youth counterpart. In the Reign of King Prajadhipok (Rama VII), royal ceremonies were still held on the ground, albeit on a smaller scale, due to the then economic crisis. The Siamese Revolution of 1932 was a turning point where the function of Sanam Luang had shifted to fully accept the people, while simultaneously maintaining its status as a ceremonial site for both the state and the crown. It depicts how the space is shared across the board, although subsequent changes may omit the people from the picture somewhat.

(1) Kite Surfing, One of the most famous activities on Sanam Luang

(2) The Flea Market on Sanam Luang, Plant Market Zone

(3) The Flea Market on Sanam Luang, Book Zone

(4) Sanam Luang as a home for Ones

         Despite not being built to be a park, Sanam Luang has served several functions due to its vast open space, proximity to significant places, and prominent tourist attractions within Phra Nakhon. The Siamese Revolution of 1932 has made Sanam Luang cater more to the public. When Field Marshal P. Phibunsongkhram held the office, Sanam Luang acted as a public space. It was the venue for “Sanam Luang Flea Market”, a response to the policy to have a flea market in every province to stimulate the local economy. It provided, too, a platform for expressing and debating political ideas or “Hyde Park” (the Speakers Corner). Unfortunately, the Flea Market initiative was abolished in the era of General Kriangsak Chamanan. Under him, Sanam Luang turned into a recreation park, a place filled with activities; picnicking, playing sports, and any activities not in direct conflict with the government’s perspective. Sometimes, the state’s attempt to renovate the field does put an end to activities enjoyed by the people. However, such attempts do not negate the public space aspect of Sanam Luang. On the other hand, it introduces people to Sanam Luang and its legacy.

พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เนื่องในโอกาสวันพืชมงคล วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2509

งาน นาเชอนนัล เอกซฮิบิชัน (National Exhibition) ในคราวฉลองพระนครครบรอบ 100 ปี พ.ศ. 2425 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

งานฉลองรัฐธรรมนูญ ณ สนามหลวง พ.ศ.2481

มณพิธีท้องสนามหลวง

     สนามหลวง หรือเรียกกันตามชื่อเดิมว่า ทุ่งพระเมรุ เนื่องจากใช้เป็นพื้นที่สำหรับพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ชั้นสูง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในช่วงรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 การใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ในการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ เท่านั้น เช่น พิธีแรกนาขวัญ พระราชพิธีพืชมงคล พระราชพิธีพิรุณศาสตร์ (พิธีขอฝน) และการทำนาหลวง เป็นต้น

     ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สนามหลวงได้รับการปรับปรุงให้มีพื้นที่กว้างขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการใช้งานที่จะเกิดขึ้นจากอิทธิพลของตะวันตกที่เริ่มเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทำให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นบนท้องสนามหลวงมีความหลากหลาย ค่อย ๆ เปิดรับให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ประกอบไปด้วย งานฉลองพระนครครบรอบ 100 ปี ที่มีกระบวนพยุหยาตราอันยิ่งใหญ่ การจัด “นาเชอนนัล เอกซฮิบิเชน (National Exhibition)” เป็นการแสดงสินค้าที่ผลิตในประเทศสยามให้ประชาชนเข้าชมเป็นเวลา 3 เดือน และการตั้งโรงทานรอบสนามหลวง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการใช้สนามหลวงเป็นที่สวนสนามและการซ้อมรบของเหล่าเสือป่าและลูกเสือ สืบเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ยังคงมีการจัดงานพระราชพิธีบนท้องสนามหลวงเรื่อยมา แม้ว่าบางงานจะมิได้ใหญ่โตเอิกเกริก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศขณะนั้นก็ตาม ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จึงเป็นจุดเปลี่ยนของสนามหลวงที่เปิดรับประชาชนอย่างเต็มกำลังในขณะเดียวกัน ยังคงเป็นพื้นที่ของพระราชพิธีและรัฐพิธีอยู่แสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่ร่วมกัน แม้การ
เปลี่ยนแปลงของสนามหลวงในปัจจุบัน จะทำให้ภาพของประชาชนเลือนรางไปก็ตาม

สนามหลวง: ในฐานะพื้นที่สาธารณะของประชาชน

(1) การเล่นว่าว การแข่งขันและกิจกรรมยามว่างสำหรับประชาชน

(2) ตลาดนัดสนามหลวง ส่วนที่จำหน่ายต้นไม้และพืชพันธุ์ต่าง ๆ

(3) ตลาดนัดสนามหลวง มุมหนังสือสำหรับนักอ่าน

(4) สนามหลวงในฐานะที่พักพิงของใครหลาย ๆ คน

     ถึงแม้ว่าสนามหลวงจะไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นสวนสาธารณะ แต่ลักษณะของสนามหลวงสามารถตอบโจทย์กิจกรรมได้หลายรูปแบบ เนื่องจากมีพื้นที่กว้างใหญ่ อยู่ใกล้สถานที่สำคัญและแหล่งท่องเที่ยวในพระนครภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 บทบาทของสนามหลวงเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประชาชนมากขึ้นจากเดิม อาทิ ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี สนามหลวงรับบทเป็นพื้นที่สาธารณะ ด้วยการใช้เป็น “ตลาดนัดสนามหลวง” ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายให้มีตลาดนัดทุกจังหวัดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดเวทีปราศรัยแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เรียกว่า “ไฮปาร์ก” หลังจากนั้นถึงแม้ว่าตลาดนัดจะถูกยกเลิกไปในสมัยของพล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ สนามหลวงกลายมาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน มีกิจกรรมเกิดขึ้นมากมาย เช่น การเป็นสวนสาธารณะ การเล่นกีฬา และสิ่งที่ไม่ขัดกับมุมมองของรัฐ มีหลายครั้งที่รัฐพยายามจัดโครงการปรับปรุงพื้นที่ เป็นเหตุให้กิจกรรมเหล่านั้นของประชาชนถูกยกเลิกไป แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความเป็นพื้นที่สาธารณะของสนามหลวงหายไป ในทางกลับกัน นี่ทำให้ประชาชนหลายคนรู้จักและรับรู้ถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้